การซื้อขายอสังหาฯ เชิงธุรกิจฟื้น กรุงเทพฯติดโผค่าเช่าสนง.ขยับขึ้น
Source - คมชัดลึก (Th)
แม้ในหลายประเทศทั่วโลกจะประสบปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองที่ท้าทาย ตลาดการลงทุนซื้อขายอาคารและโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจทั่วโลก ยังคงมีกิจกรรมเกิดขึ้นอย่างคึกคักและมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2560 นี้
จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ "เจแอลแอล" ระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการลงทุนซื้อขายอาคารและโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจ (อาทิ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม โรงงาน และโกดังสินค้า) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 22.7 ล้านล้านบาท แต่สำหรับปี 2560 นี้ มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณการลงทุนเพิ่มมาก
ขึ้น โดยคาดว่ามูลค่ารวมสำหรับทั้งปีอาจขยับขึ้นไปได้มากถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24.5 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 และ 2558
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าตลาดการลงทุนซื้อขายในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น คือการที่กลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบันมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเหล่านี้เน้นการหาโอกาสการลงทุนที่มีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแหล่งทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นจากหลากหลายประเทศ อาทิ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย ฯลฯ
นักลงทุนต่างๆ เหล่านี้ ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่เข้ามาใหม่ มีจำนวนมากที่มีทุนหนาและสามารถระดมทุนเพื่อเข้าซื้ออาคารหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างรวดเร็ว
ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่จีนขยายบทบาทขึ้นมาเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่บนเวทีโลกด้านการลงทุนซื้ออาคารโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดย ณ สิ้นไตรมาสสามของปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนจากจีนมีการเข้าลงทุนซื้ออาคารและโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจในต่างประเทศมากที่สุด แซงหน้าสหรัฐ
"เมืองที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนที่สนใจลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเมืองในประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงต่ำ มีความโปร่งใส และซื้อขายได้คล่อง แต่เมืองหลักๆ เหล่านี้ มักมีการแข่งขันสูง จึงมีนักลงทุนบางส่วนที่ให้ความสนใจการลงทุนในเมืองเป้าหมายรองในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดังนั้น ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน จะมีโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนได้ดีกว่า"
ขณะที่รายงานการศึกษาตลาดอาคารสำนักงานของ เจแอลแอลใน 17 เมืองสำคัญของเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าในเมืองส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ดีในปีนี้ โดยเฉพาะย่านศูนย์กลางธุรกิจในเมลเบิร์น ซิดนีย์ บังกาลอร์ และกรุงเทพฯ ส่วนภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มมากที่สุดในปี 2560 นี้ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี กลุ่มบริษัทยา กลุ่มบริการทางวิชาชีพ และกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสองกลุ่มแรก
"เจรามี เชลดอน" กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจบริการด้านอาคารสำนักงาน เจแอลแอล ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า โดยภาพรวม ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานในเอเชียแปซิฟิกขยายตัว ส่วนใหญ่มาจากบริษัทภายในประเทศ ซึ่งต้องการเปิดออฟฟิศหรือขยายออฟฟิศในย่านศูนย์กลางธุรกิจ และการเติบโตของภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์ยา
มีรายงานว่า 70% ของบริษัทชั้นนำของโลกด้านเทคโนโลยี เลือกสิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในจำนวนนี้มี 57% เปิดสำนักงานในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเทคโนโลยีได้รับการสนับสนุน
เป็นอย่างดีจากรัฐบาลสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากแคมเปญ Smart Nation ที่รัฐบาลสิงคโปร์ริเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2557
ส่วนกรุงเทพฯ กลุ่มบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซ คอลเซ็นเตอร์ และไอที มีการเปิดตัวและขยายกิจการอย่างคึกคัก และมี แนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งสำคัญของดีมานด์ในตลาดอาคารสำนักงานกรุงเทพฯ ต่อไปในปีนี้
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาเป็นอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มีแนวโน้มใช้พื้นที่สำนักงานมากขึ้น โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 บีโอไอของไทยได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปีสำหรับบริษัทผลิตภัณฑ์ยา ในความพยายามส่งเสริมศักยภาพของไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) ของภูมิภาค ส่วนที่ฟิลิปปินส์ อาคารวันเวิลด์เพลสในเขตโบโนฟาซิโอของ กรุงมะนิลา มีบริษัทยาและบริษัทเวชภัณฑ์เช่าพื้นที่สำนักงานรายละ 1,000 ตารางเมตร สำหรับสิงคโปร์ บริษัทยายักษ์ใหญ่รายหนึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นการเจรจาเช่าระยะ 15 ปีในเขตนิคมธุรกิจวันนอร์ธ เพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา
สำหรับในระยะ 12 เดือนข้างหน้า เจแอลแอลคาดว่า ในบรรดาตลาดอาคารสำนักงานของ 17 เมืองในเอเชียแปซิฟิกที่เจแอลแอลศึกษา มี 13 เมืองที่มีแนวโน้มว่าค่าเช่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง การขยายตัวของภาคธุรกิจต่างๆ และการที่อาคารสำนักงานทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่กำลังจะสร้างเสร็จใหม่มีคุณภาพมากขึ้น คาดว่าจะมีส่วนในการทำให้ค่าเช่าในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมืองที่คาดว่าค่าเช่าสำนักงานจะปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ โอ๊คแลนด์ เมลเบิร์น โอซากา บังกาลอร์ กรุงเทพฯ มุมไบ ซิดนีย์ และเดลี ส่วนเมืองที่คาดว่าค่าเช่าสำนักงานจะไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ นครโฮจิมินห์ ฮ่องกง มะนิลา โซล และโตเกียว และเมืองที่ค่าเช่าสำนักงานมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ได้แก่ ปักกิ่ง จาการ์ตา เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก