QR Code

LINE Official

@interhome

หน้าหลัก ฝากขายบ้าน
ฝากขายที่ดินกับเรา
ติดต่อ ฝากซิ้อ
ฝากขายบ้าน ที่ดิน
ทีมงานมืออาชีพ

คลังชง 5 ข้อ แก้กม.หลักประกันธุรกิจ ผู้ประกอบการ 1.3 แสนรายรอใช้สิทธิ์



คลังชง 5 ข้อ แก้กม.หลักประกันธุรกิจ ผู้ประกอบการ 1.3 แสนรายรอใช้สิทธิ์


May 04, 2017

          คลังชง 5 ข้อแก้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เปิดช่อง "SPV-ทรัสต์-ลีสซิ่ง" เป็นผู้รับหลักประกันนอกเหนือจากแบงก์ พร้อมเพิ่มประเภทสินทรัพย์ค้ำเงินกู้ พาณิชย์รับลูก ชี้ SMEs ได้อานิสงส์ เผย 9 เดือนแรกแห่ขึ้นทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ 1.3 แสนราย 1.9 ล้านล้านบาท
          นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้ สศค.กำลังเร่งพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ(Easeof Doing Business : EODB) ในอันดับที่ดีขึ้น โดยปรับปรุงแก้ไขบางประเด็นให้มีความเป็นสากล จากเดิมช่วงที่ผลักดันออกกฎหมายฉบับนี้ฝ่ายนโยบายเห็นว่าควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และค่อยพิจารณาว่าจะเปิดกว้างมากขึ้นหลังกฎหมายใช้บังคับ 1 ปีผ่านพ้นไป
          แนวทางการเปิดกว้างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้เป็นสากลมากขึ้น มีประเด็นต่าง ๆ ต้องปรับแก้ เช่น ขยายผู้รับหลักประกัน จากเดิมกำหนดแค่สถาบันการเงินดำเนินการ เป็นให้เอกชนดำเนินการได้ด้วย ขณะเดียวกันก็เพิ่มประเภททรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยออกกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มเติม
          ให้ SPV-ทรัสต์-ลีสซิ่ง แจม
          นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สศค. เปิดเผยว่า ในส่วนของสาระสำคัญที่จะปรับแก้กฎหมาย สศค. ยังรอผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ที่ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ว่าจ้างศึกษา เรื่องการแก้ไขกฎระเบียบที่มีผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย เสนอรายละเอียดและข้อเสนอแนะว่าจะให้แก้ไขในประเด็นใดบ้าง
          ในแง่ผู้รับหลักประกัน เราออกกฎกระทรวงขยายไปแล้ว จากเดิมมีแค่ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทประกัน ปลายปี 2559 ออกกฎกระทรวงขยายไปยังภาคตลาดทุน อาทิ นิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรัสต์ รวมถึงพวกบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) และแฟกตอริ่งด้วย
          ปัจจุบันกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาจะขยายให้กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) เป็นผู้รับหลักประกันได้ด้วย
          อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินที่มีการนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากที่สุดขณะนี้ น่าจะเป็นเงินฝาก ซึ่งเป็นหลักประกันที่ธนาคารพาณิชย์รับอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อก่อนใช้วิธีทำสัญญาระหว่างกัน ไม่ได้ไปจดทะเบียน เมื่อมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทางแบงก์ก็จะนำสัญญาเหล่านี้ไปจดทะเบียน ทำให้มีบุริมสิทธิ มีสิทธิเรียกร้องที่หนักแน่นขึ้น ก่อนขยายไปยังทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ
          เปิด 5 ข้อเสนอแนะธนาคารโลก
          ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกเสนอแนะประเด็นการแก้ไขกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยชี้ว่ากฎหมายปัจจุบันยังไม่เป็นสากล นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จึงสั่งการให้ สศค.เร่งปรับปรุงกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนธนาคารโลกจะมาเก็บข้อมูลทำรายงาน Ease of Doing Business เดือน พ.ค.นี้ รวม 5 ประเด็น 1) กำหนดขอบข่ายของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจให้ชัดเจน 2) กำหนดบทบัญญัติกฎหมายกรณีเจ้าหนี้มีหลักประกัน และเจ้าหนี้อื่น ๆ ให้ชัดเจน 3) สร้างความชัดเจนเรื่องบทบาทของเจ้าพนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ 4) ทบทวนความโปร่งใสในการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ 5) จัดลำดับเจ้าหนี้มีหลักประกันให้มีหลักประกันเพียงพอระหว่างขายทรัพย์ของลูกหนี้
          กม.หลักประกันอัพEODB
          ขณะที่นางสาวบรรจงจิตต์อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า รับทราบเบื้องต้นว่ากระทรวงการคลังเจ้าภาพหลักจะเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้แล้ว หลังบังคับใช้มาตั้งแต่ 4 ก.ค. 2559 แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง ระหว่างนี้กรมในฐานะหน่วยงานภาคปฏิบัติยังให้บริการอย่างเต็มที่ ถึงขณะนี้มีจำนวนผู้มาใช้บริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น แต่อาจกระจุกตัวอยู่ในหลักประกันบางประเภท เช่น กลุ่มสิทธิเรียกร้อง มีสัดส่วนการใช้มากที่สุด ในอนาคตมีการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
          แห่จดทะเบียน 1.3 แสนราย
          รายงานข่าวระบุว่า สถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
          9 เดือน ตั้งแต่ 4 ก.ค. 2559-27 เม.ย. 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 132,200 คำขอ คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน 1,958,231 ล้านบาท เฉลี่ยมีการยื่นคำขอถึงเดือนละ 7,058 ราย สำหรับประเภททรัพย์สินที่นำมายื่นขอรับหลักประกันสูงสุด คือ กลุ่มสิทธิเรียกร้อง มูลค่า 1,525,379 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.9% ของมูลค่าหลักทรัพย์ทั้งหมด ประกอบด้วย บัญชีเงินฝากธนาคาร 1,108,671 ล้านบาท สัดส่วน 56.62% สิทธิการเช่า 67,935 ล้านบาท สัดส่วน 3.47% และอื่น ๆ เช่น ลูกหนี้การค้า, สัญญาจ้าง, สัญญาซื้อขาย, สัญญาเช่าซื้อ 348,778 ล้านบาท สัดส่วน 17.81%
          รองลงมา คือ กลุ่มสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 430,897 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของมูลค่าหลักทรัพย์ทั้งหมด แบ่งเป็น สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ 256,094 ล้านบาท สัดส่วน 13.08% และเครื่องจักร/รถยนต์/เรือ 174,803 ล้านบาท สัดส่วน 8.93% กลุ่มทรัพย์สินทางปัญญา 1,955 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.10% ซึ่งรายการนี้เป็นการขอรับหลักประกันในเครื่องหมายการค้า จากบริษัทจำกัดรายหนึ่ง ส่วนกลุ่มอสังหาฯที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไม่มีการยื่นขอจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเลย
          ผุดตลาดกลางขายหลักประกัน
          นายไพรัชมณฑาพันธุ์กรรมการผู้จัดการ บริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด และนายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ให้ความเห็นว่า สมาคมมีสมาชิกประมาณ 50 ราย ช่วง 9 เดือนของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพียง 1 รายเท่านั้นที่มาใช้บริการประเมินราคาเว็บไซต์ด้านการกีฬาและการศึกษา เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกัน
          สาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่นิยมใช้หลักประกันทางธุรกิจเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นไปได้ว่าทั้งฝ่ายผู้รับหลักประกัน(สถาบันการเงิน) และผู้ให้หลักประกัน (ผู้ประกอบการ) อาจยังไม่มั่นใจ เช่น เมื่อผิดนัดชำระจะดำเนินการอย่างไร ส่วนใหญ่ที่มาใช้จึงใช้ทรัพย์สินที่ไม่ต้องประเมิน เช่น สิทธิเรียกร้อง บัญชีธนาคาร เป็นต้น ดังนั้น แนวทางในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ใช้ได้จริงทางปฏิบัติ ควรมีการตั้งตลาดกลาง หรือวางระบบอีออกชั่น สำหรับขายสินค้าที่ถูกบังคับหลักประกัน กรณีลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้รับหลักประกัน
          ชี้ SMEs ไทยยังไม่ได้อานิสงส์
          ขณะที่ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ต้องการผลักดันให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะมีประโยชน์กับเอสเอ็มอี เนื่องจากเปิดโอกาสให้นำสินค้าคงคลังไปเป็นหลักประกันการยื่นขอสินเชื่อได้ แต่หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ยังเงียบ ๆ คาดว่าผู้รับหลักประกัน เช่น สถาบันการเงิน อาจไม่อยากรับหลักทรัพย์บางประเภทที่ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง เช่น แบรนด์ หรือมูลค่าบริษัท ถ้าธนาคารยึดไปแล้วสามารถนำไปทำอะไรต่อได้ จากเดิมที่ธนาคารนิยมปล่อยสินเชื่อโดยมีหลักประกันเป็นทรัพย์สินทางที่จับต้องได้ เช่น บ้าน/ที่ดิน ซึ่งสามารถยึดแล้วนำไปขายต่อได้ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้จึงไม่ได้รับความนิยม แม้ว่าจะมีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ไว้แล้ว
          ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ www.facebook.com/PrachachatOnline ทวิตเตอร์ @prachachat
          ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้

          ที่มา: www.prachachat.net

แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ

บนช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ

Share On Line

คัดลอกบทความ