ไฟเขียว สีม่วงใต้ แสนล้านเตรียมเปิดประมูลตุลาฯนี้ ( 26 July 2017 )
ครม. ไฟเขียวเปิดโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1 แสนล้าน โดย รฟม. กำลังพิจารณาหั่นสัญญางานโยธาเป็น 5 สัญญา เปิดประมูลในเดือน ต.ค. นี้ ขณะคมนาคมศึกษาการรวบสัญญางานโยธาและเดินรถสายสีส้ม เปิดประมูลแบบพีพีพี หวังลดภาระรัฐบาล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วานนี้ (25 ก.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 101,112 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท, ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท, ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท และเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดของงานโยธา 3,582 ล้านบาท
โดยแหล่งเงินทุนจะมาจาก 2 ส่วน คือ 1. งบประมาณ 15,945 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และ2. เงินกู้ 85,167 ล้านบาท จะใช้เป็นค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด
หลังจากนี้ รฟม.สามารถเริ่มดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาได้ แต่ต้องรอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรับทราบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อน จึงจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้
คาดก่อสร้างปลายปีหน้า
โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายจะเริ่มเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในเดือน ต.ค. นี้ และทราบผลภายในเดือน ส.ค. ปีหน้า จากนั้นจะก่อสร้างในปลายปี 2561 และเปิดให้บริการภายในปี 2566-2567 ขณะเดียวกันมีกรอบเวลาจะออก พรฎ.เวนคืนที่ดิน ภายในเดือน ส.ค. นี้
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ที่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2559 โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะมีทั้งหมดสถานี 17 แห่งและระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 แห่ง และเส้นทางใต้ดินยาว 12.6 กิโลเมตร ขณะเดียวกันมีสถานียกระดับ 7 สถานี และทางยกระดับยาว 11 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อการเดินทางตั้งแต่จ.นนทบุรี กรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี จนถึง จ.สมุทรปราการ
นอกจากนี้จะก่อสร้างอาคารจรแล้วจร 2 จุด ได้แก่ สถานีบางปะกอก 1 อาคาร จอดรถได้ประมาณ 1,600 คัน และสถานีราษฎร์บูรณะ 2 อาคาร จอดรถได้ประมาณ 1,400 คัน รวมถึงมีการก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุงขนาดย่อมที่สถานีครุใน
ผู้โดยสาร4.7 แสนคน-เที่ยวต่อวัน
"คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารค่อนข้างสูง อยู่ที่ 477,098 คน-เที่ยวต่อวัน เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นถึง 4 จุด ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูนและวังบูรพา, สายสีส้มที่สถานีอนุสาวรีประชาธิปไตย และใกล้กับสถานีวงเวียนใหญ่ของสายสีเขียว โดยอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ของสายสีม่วงใต้จะอยู่ที่ 12.95%และผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) จะอยู่ที่ 4.59%" นายอาคมกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ หรือสายสีส้มตะวันตก ระยะทางประมาณ16กิโลเมตร วงเงิน109,342 ล้านบาท เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในเร็วๆ นี้
แบ่งสัญญาโยธาสีม่วงใต้
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รองผู้ว่าการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม. อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งสัญญางานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เพื่อให้เปิดกว้างมากที่สุด โดยเดิมจะแบ่งสัญญางานโยธาประมาณ 3-4 สัญญา แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งสัญญางานก่อสร้างทางยกระดับเป็น 1 สัญญา และแบ่งสัญญางานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินจะเป็น 3หรือ 4 สัญญา มูลค่าประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทต่อสัญญา
ทั้งนี้ การตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่การนำหัวเจาะอุโมงค์ลงใต้ดินด้วย แต่ก็จะพยายามร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ให้เปิดกว้างเช่นเดียวกับการประมูลสายสีส้มตะวันออก
จากนั้น รฟม. จะต้องเสนอร่างTORเสนอให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) พิจารณา เพราะโครงการจะกู้เงินจากADBประมาณ 10%จากนั้นจะกำหนดเงื่อนไขผู้เข้าประมูลและเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เห็นชอบเพื่อเปิดประมูลต่อไป สำหรับเรื่องEIAนั้น ยังต้องหารือในเส้นทางที่อยู่ใกล้เกาะรัตนโกสินทร์ แต่คาดว่าไม่น่าเป็นปัญหามากนัก
เวนคืนที่ดิน100ไร่ 400ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม รฟม. ค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องพรฎ.เวนคืนที่ดิน เพราะปกติ ครม. จะเห็นชอบกฎหมายเวนคืนพร้อมกับโครงการ แต่ตอนนี้ พรฎ. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมจึงต้องรอก่อน โดยเบื้องต้นจะต้องเวนคืนที่ดินประมาณ 100 ไร่และมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 400 ครัวเรือน ซึ่งบริเวณที่มีการเวนคืนมากที่สุดคือ อาคารซ่อมบำรุงขนาดย่อมประมาณ 50 ไร่
สำหรับการหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นั้น ตามปกติจะเริ่มเปิดประมูลเมื่อเริ่มก่อสร้างงานโยธาไปได้ครึ่งปี โดยยืนยัน รฟม. ไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEMผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ เพราะสามารถกำหนดเงื่อนไขการประมูล (TOR) ให้เดินรถต่อเนื่องได้แม้จะไม่ใช่ผู้เดินรถรายเดียวกัน
นายธีรพันธ์ ยังกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกว่า ในแผนจะเสนอ ครม. ให้เปิดประมูลงานก่อสร้างโยธาก่อน จากนั้นจะเสนอให้เปิดประมูลเดินรถแบบPPPในช่วงปลายปีนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ