คืบหน้า มอเตอร์เวย์ โคราช-กาญจน์ คาดได้ใช้ปี 63
คืบหน้า มอเตอร์เวย์ 2 สาย โคราช-กาญจน์ กิโลเมตรละ 1.25-1.5 บาท คาดได้ใช้ปี 63
คืบหน้าไปอย่างมากแล้วกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเส้นทางใหม่ โดยเมื่อวานนี้ (22 สิงหาคม 2560) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร มีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในส่วนของการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance หรือ O&M) รวมทั้งเคาะค่าผ่านทางทั้ง 2 สาย กิโลเมตรละ 1.25 และ 1.50 บาท คาดเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2563
ทำความรู้จักมอเตอร์เวย์สายใหม่
มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 196 กิโลเมตร ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ทางแยกต่างระดับบางปะอินสิ้นสุดโครงการที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ช่วยแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 1 (ถ.พหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพ) ที่มีปริมาณการจราจรสูง รวมทั้งยังช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภาคอีสาน โดยจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย เข้ากับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดจีน ได้แก่ ลาว พม่า และมณฑลยูนนานของจีน ปัจจุบันการดำเนินงานคืบหน้าประมาณ 11.59% เร็วกว่าแผน 0.32%
มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 96 กิโลเมตร ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 324 อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ช่วยให้การจราจรจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปภาคตะวันตกได้สะดวกมากขึ้น และเชื่อมต่อระหว่างฐานการผลิตและส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตกได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันการดำเนินงานคืบหน้า 2.54% ช้ากว่าแผน 6.46% (จากแผนงาน 9%) เนื่องจากทยอยเบิกจ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและปรับรูปแบบการก่อสร้างให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ครม.อนุมัติให้เอกชนร่วมทุน
การดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การก่อสร้างงานโยธาที่รัฐใช้งบประมาณดำเนินการเองมีวงเงินลงทุนรวม 125,720 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดินและก่อสร้าง 2.การดำเนินงานและบำรุงรักษา 3.การลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง ได้แก่ สถานีบริการ ที่พักริมทาง
จากผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการทั้งสองโครงการ พบว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในรูปแบบ PPP Gross Cost เป็นรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายของรัฐต่ำสุดและมีความคุ้มค่าของเงินมากที่สุด รัฐมีผลตอบแทนระยะยาวจากรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางคงเหลือสุทธิสูง แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการเกิดภาวะรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐ แต่สามารถบริหารจัดการได้ โดยอาศัยกลไกของเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาใช้เป็นแหล่งเงินสมทบ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรายจ่ายประจำปี
สำหรับโครงการทั้งหมด ในส่วนงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน รวมทั้งการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางนั้น ให้เอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี โดยกรอบวงเงินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ไม่เกิน 33,285 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ไม่เกิน 27,828 ล้านบาท โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563
ค่าผ่านทาง 1.25-1.5 บาท/กิโลเมตร
สำหรับค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีอัตราแรกเข้า 10 บาท หลังจากนั้นจะคิด 1.25 บาท ทุก ๆ กิโลเมตร ซึ่งมีระยะทางรวม 196 กิโลเมตร โดยกำหนดผลตอบแทนให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการปีละ 1,170 ล้านบาท ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีอัตราแรกเข้า 10 บาท หลังจากนั้นจะคิด 1.50 บาททุก ๆ กิโลเมตร ซึ่งมีระยะทาง 96 กิโลเมตร โดยกำหนดผลตอบแทนให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการปีละ 979 ล้านบาท
เมื่อรวมกับโครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย สายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2562 จะทำให้ประเทศไทยมีมอเตอร์เวย์สายใหม่ถึง 3 สาย เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจังหวัดในภาคตะวันออก ตะวันตก และภาคอีสาน ให้สามารถเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ที่มา : http://www.ddproperty.com