QR Code

LINE Official

@interhome

หน้าหลัก ฝากขายบ้าน
ฝากขายที่ดินกับเรา
ติดต่อ ฝากซิ้อ
ฝากขายบ้าน ที่ดิน
ทีมงานมืออาชีพ

ปรับค่าจ้างดัน รับสร้างบ้าน ขึ้นราคา5%



ปรับค่าจ้างดัน รับสร้างบ้าน ขึ้นราคา5%

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ชี้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 1 เม.ย.นี้ ดันต้นทุนแรงงานเพิ่ม วัสดุส่อขึ้นราคา คาดไตรมาส2 ขยับราคารับสร้างบ้าน 5% ประเมินแนวโน้มตลาดมูลค่า 5 หมื่นล้าน ปีนี้ขยายตัว 5% แรงหนุนเศรษฐกิจฟื้น กระตุ้นผู้บริโภคตัดสินใจสร้างบ้าน

หลังคณะกรรมการค่าจ้าง ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 7 อัตรา ระหว่าง 8-22 บาท มีผล วันที่ 1 เม.ย.2561  ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น   

นางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่าธุรกิจรับสร้างบ้าน ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัวในครึ่งปีแรก หลังจากนั้นเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากเศรษฐกิจมีทิศทางเติบโตชัดเจนทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐและตลาดหุ้นปรับขึ้นสูง ส่งผลให้ปี 2560 ตลาดรับสร้างบ้านเติบโตราว 5% มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท  ในจำนวนนี้สมาชิกสมาคมฯ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีส่วนแบ่ง 20% มูลค่าราว 1.05  หมื่นล้านบาท 

จากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ คาดการณ์จีดีพี เติบโต 4%  อีกทั้งยังมีปัจจัยการเลือกตั้ง ที่จะช่วยกระตุ้นการวางแผนลงทุนของภาคเอกชน จากเดิมบางส่วนอยู่ในภาวะชะลอตัว 

ประกอบกับการประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำทั่วประเทศ ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้แรงงานมีต้นทุนเพิ่มขึ้น  รวมทั้งธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มีทั้งกลุ่มแรงงาน ,กลุ่มแรงงานมีทักษะ  รวมทั้งธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ที่มีต้นทุนแรงงานเพิ่ม ที่อาจจะพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า 

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งด้านแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ดังนั้นในไตรมาส2 ราวเดือน เม.ย.นี้  กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจะพิจารณาปรับขึ้นราคาประมาณ 5% หลังจากไม่ปรับราคาในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

“ปกติในจังหวะที่เศรษฐกิจขยายตัว ธุรกิจรับสร้างบ้านจะพิจารณาปรับราคา จากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ปีนี้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีกประการ ผู้ประกอบการจึงพิจารณาขึ้นราคาในไตรมาส 2 นี้ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบลูกค้า เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น” 

ตลาดรับสร้างบ้านปีนี้โต5%

สำหรับตลาดรับสร้างบ้านปี 2561 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้านี้ จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคให้กล้าใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่มากขึ้น หลังจากที่ชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน  โดยกลุ่มสมาชิกสมาคมฯประมาณการเติบโตปีนี้ 5% หรือมีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท    

อย่างไรก็ตามในโอกาสที่ตนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมธุรกิจรับสร้าง คนที่ 8 วาระ 2 ปี (2561-2562) ได้วางนโยบายการทำงานมุ่งพัฒนาสมาคมฯ แบบยั่งยืนเพื่อให้ “รับสร้างบ้าน เป็นมืออาชีพที่ผู้บริโภควางใจ” เป็นองค์กรคุณภาพมีความน่าเชื่อถือ เป็นศูนย์รวมข้อมูลเกี่ยวกับรับสร้างบ้านทั้งในเชิงสถิติและนวัตกรรม

อีกทั้งเป็นผู้นำแนวคิดและเทรนด์การรับสร้างบ้าน โดยให้ความสำคัญกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน ทั้งนี้ สมาคมฯ มีเป้าหมายจะสร้างสมาคมฯ ให้เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ด้วยการขยายเพิ่มจำนวนสมาชิกทุกประเภทขึ้นอีกอย่างน้อย 10% จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 127 ราย เป็นผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน 53 ราย และที่เหลือเป็นกลุ่มวัสดุ 

นอกจากนี้จะสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของสมาชิกผ่านกิจกรรมในทุกๆ ด้าน โดยจะเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจรับสร้างบ้านได้เข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกและเครือข่าย และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ 

“บ้านสูงวัย-สมาร์ทโฮม”เทรนด์แรง

นางศิริพร กล่าวว่าสำหรับเทรนด์ธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้   คือ บ้านที่สร้างขึ้นสำหรับทุกวัย หรือ “3เจน”  โดยเฉพาะบ้านที่รองรับกลุ่มสูงวัย  ซึ่งมีทั้งการรีโนเวทบ้านเก่าและสร้างบ้านใหม่  อีกเทรนด์ที่ได้รับความสนใจสูง คือ สมาร์ทโฮม การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะมาในงานภายในบ้าน ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคปัจจุบัน

ปัจจุบันการอยู่อาศัยของคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นรูปแบบ“มัลติ แฟมิลี่”  โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง ที่นิยมสร้างบ้านให้บุตรหลานอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านพ่อแม่ จึงมีลักษณะการใช้ที่ดินเต็มพื้น เช่น การสร้างบ้านหลายชั้น เพื่อให้บุตรอยู่อาศัยคนละชั้น  ดังนั้นการออกแบบบ้านจึงต้องพัฒนาไปตามไลฟ์สไตล์ผู้อยู่ศัยในปัจจุบัน  

สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านปีที่ผ่านมา แบ่งสัดส่วนเป็น 5 กลุ่ม คือ ราคาต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท  10%, ราคา 2.5-5 ล้านบาท 40%, ราคา 5-10 ล้านบาท 36%, ราคา 10-20 ล้านบาท 9% และ มากว่า 20 ล้านบาท 5%  

ชี้โอกาสตลาดอาเซียนโต

นายวรวุฒิ กาญจนกูล เลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่าจากการทำวิจัยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เกี่ยวกับตลาดรับสร้างบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่าในประเทศ ลาว กัมพูชา และเมียนมา เป็นตลาดที่มีโอกาสขยายตัวจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว ขณะที่ธุรกิจรับสร้างบ้านในไทยมีการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีการก่อสร้าง วัสดุ และการออกแบบบ้านที่โดดเด่น   จึงมีโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปขยายธุรกิจในทั้ง 3 ประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศที่มีโอกาสสูง คือ กัมพูชา  ที่พบว่ามีกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์มีความต้องการสร้างบ้านระดับ 20-30 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น และสนใจใช้บริการรับสร้างบ้านจากประเทศไทย   ขณะนี้สมาคมฯกำลังศึกษาโอกาสที่สมาชิกจะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการร่วมทุนเป็นพันธมิตรกับธุรกิจท้องถิ่น และการขยายธุรกิจโดยผู้ประกอบการไทย  

สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหลักของสมาคมฯ 2 งาน ในปีนี้ คือ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Home Builder & Materials Focus 2018 ในเดือนมี.ค.2561 และ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Home Builder & Materials Expo 2018 เดือนส.ค. 2561 ได้เพิ่มกิจกรรมที่ช่วยต่อยอดองค์ความรู้ของธุรกิจและช่วยขยายฐานเครือข่าย โดยจะเปิดโอกาสให้บริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น

แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ

บนช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ

Share On Line

คัดลอกบทความ