QR Code

LINE Official

@interhome

หน้าหลัก ฝากขายบ้าน
ฝากขายที่ดินกับเรา
ติดต่อ ฝากซิ้อ
ฝากขายบ้าน ที่ดิน
ทีมงานมืออาชีพ

ผังเมืองรวม กทม. ใหม่ จ่อใช้ไม่เกิน 63 เอื้อพัฒนาที่อยู่อาศัย



จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 16.7 ล้านคนเป็น 19.5 ล้านคน ในปี 2580 โดยประชากรในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง แต่ประชากรในปริมณฑล มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเดียวกับประชากรแฝงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ

เมื่อลงลึกไปถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินพบว่า พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด รวมถึงกระจายออกไปนอกพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษกตามแนวเส้นทางคมนาคมสายหลักทุกทิศทาง (Ribbon Development) โดยพื้นที่ปลูกสร้างมีแนวโน้มขยายตัวกว้างขึ้นมากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากไม่มีการควบคุมจะสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม เกิดการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงภัย และก่อให้เกิดปัญหาการจราจรอีกด้วย ดังนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จึงเป็นการตอบรับกับความต้องการพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของประชากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จะเน้นพัฒนาเมืองในรูปแบบ “ไร้รอยต่อ” ชะลอการขยายเมืองในแนวราบในพื้นที่ชานเมือง แต่จะใช้ประโยชน์พื้นที่กลางเมืองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งผังเมืองใหม่จะรองรับการพัฒนาพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร สำหรับประชากรตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝง 9.3-10 ล้านคน

ยกตัวอย่างเช่น โซนตะวันออกของกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนจากพื้นที่สีเหลือง หรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเป็นพื้นที่สีส้ม หรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ส่งผลให้ผังเมืองรวมมีพื้นที่สีเหลืองลดลงจาก 438.33 ตารางกิโลเมตร เหลือ 393.79 ตารางกิโลเมตร หรือลดลง 10.14% ส่วนพื้นที่สีส้มเพิ่มขึ้นจาก 248.08 ตารางกิโลเมตร เป็น 345.65 ตารางกิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 39.33% ส่วนพื้นที่สีน้ำตาล หรือที่อาศัยอยู่หนาแน่นเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียง 0.57% ขณะที่พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 9%

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนสีในโซนพื้นที่ต่าง ๆ ยังจะมีผลกับอัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดิน (Floor Area Ration) หรือ FAR โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตามสีต่าง ๆ สีละ 0.5 ซึ่งสัดส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นจะเอื้อต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และอาคารเชิงพาณิชย์ตามโซนต่าง ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ไม่เกินต้นปี 2563 เชื่อว่าผังเมืองฉบับใหม่จะเป็นการเปิดช่องให้พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการมิกซ์ยูส ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งช้อปปิ้ง และแหล่งงานได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยถูกลง ซึ่งจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยต่ำลงไปด้วย จึงช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนชั้นกลาง ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้เมืองได้มากขึ้น

 

ที่มา : ddproperty

15 มกราคม 2562

แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ

บนช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ

Share On Line

คัดลอกบทความ