ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ มีซัพพลายใหม่ทยอยสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า หลังจากโครงข่ายรถไฟฟ้ามีความชัดเจน ภาพโครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ก็ผุดขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อรวมกับโครงการที่มีอยู่เดิมที่ยังคงมียูนิตเหลือขาย ทำให้มีจำนวนโครงการสร้างเสร็จรวมเกือบ 600,000 ยูนิต จึงมีหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเกิดโอเวอร์ซัพพลายได้ในภาพรวมโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมตลาดกลาง-ล่างที่มีจำนวนยูนิตสะสมในตลาดจำนวนมาก
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ รายหลัก ๆ หลายราย ได้หลีกเลี่ยงการขยายการลงทุนในตลาดคอนโดมิเนียมราคาระดับปานกลาง-ล่างที่ประสบภาวะโอเวอร์ซัพพลาย หันไปพัฒนาโครงการในตลาดบนมากขึ้น ส่งผลให้คอนโดมิเนียมตลาดบนมีซัพพลายใหม่เกิดขึ้นมาก และมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์โอเวอร์ซัพพลายในคอนโดมิเนียมตลาดกลาง-ล่าง และการที่มีซัพพลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มคอนโดมิเนียมตลาดบน ทำให้มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ อาจเกิดภาวะฟองสบู่และฟองสบู่อาจแตกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการป้องกัน เตรียมบังคับใช้เกณฑ์ใหม่สำหรับการควบคุมสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2562
จากสถานการณ์ดังกล่าว เจแอลแอลวิเคราะห์ว่า ตลาดคอนโดมิเนียมของกรุงเทพฯ ในขณะนี้ เป็นการปรับตัวตามรอบวงจรการขึ้น-ลงของตลาด ขับเคลื่อนทั้งโดยการซื้อเพื่ออยู่เอง และซื้อเพื่อลงทุน โดยการเก็งกำไรมีให้เห็นน้อยมาก ต่างจากภาวะฟองสบู่ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ที่มีการเพิ่มขึ้นของอุปทานและราคาอย่างรวดเร็ว โดยมีการเก็งกำไรเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
แม้ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตลาดกลาง-ล่าง จะส่อเค้าโอเวอร์ซัพพลาย แต่ถ้าหากมองในภาพรวมแล้ว ตลาดคอนโดมิเนียมยังมีสัญญาณที่ดี ไม่ได้ซบเซาแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับคึกคักจากการแข่งขันของผู้ประกอบการที่ต่างงัดกลยุทธ์การขายมากระตุ้นการตัดสินใจ ประกอบกับความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เพราะฉะนั้นที่หวั่นว่าอาจจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 จึงยังห่างไกล
ที่มา : ddproperty
20 กุมภาพันธ์ 2562