สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอนุมัติโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศตะวันตกจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน
ส่าสุดสัปดาห์นี้รัฐบาลอนุมัติเพิ่มเติม โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เพื่อแก้ไขปัญหาบริเวณฝั่งธนบุรีและรอบโรงพยาบาลศิริราช โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการต่อประชาชนได้ภายในปี 2565
โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เป็นการก่อสร้างทางรถไฟตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 5.7 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี คือ
สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นสถานีระดับพื้น ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนฉิมพลี ห่างจากสถานีตลิ่งชันประมาณ 1.8 กม.
สถานีจรัญสนิทวงศ์ เป็นสถานียกระดับ ตั้งอยู่บริเวณสวนบางขุนนนท์ ห่างจากสถานีตลาดน้ำตลิ่งชันประมาณ 2.7 กม.
สถานีธนบุรี – ศิริราช เป็นสถานีระดับพื้นดิน ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช ใกล้กับอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ห่างจากสถานีจรัญสนิทวงศ์ประมาณ 1.3 กม.
เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ย่านวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ จรัญสนิทวงศ์ บางขุนนนท์ ตลาดน้ำตลิ่งชัน และบรมราชชนนี ซึ่งสถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีศิริราช จะเชื่อมต่อจุดสำคัญ 2 สาย คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกฯ ของ รฟม. ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
ประการสำคัญเส้นทางนี้ ยังเชื่อมโยงศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ทั้ง 3 แห่ง ของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนประชาชน หรือผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย ด้วยบริการรถไฟฟ้า
หากโครงข่ายรถไฟตามแผนแม่บทสายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย ประหยัดพลังงานในการเดินทาง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นการลดโลกร้อน ประการสำคัญช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางและสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 55,200 คน/วัน ในปีแรกที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 58,930 คน/วัน ภายใน 20 ปี
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า
7 มีนาคม 2562