ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นทั้งหัวเมืองท่องเที่ยวและนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ถือเป็นโซนที่ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ รุกมาลงทุนขยายตลาดต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็น พฤกษา, ลลิน พร็อพเพอร์ตี้, โกลเด้นแลนด์ รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว จากเฉลี่ยราคาไร่ละ 6 ล้านบาทเมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา ขยับไปถึงไร่ละ 13 ล้านบาท
ธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจทาวน์เฮ้าส์ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าตลาดอสังหาฯ ในโซนอีอีซี มีมูลค่า 7.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดชลบุรี มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ระยองมูลค่า 1.2 หมื่น ล้านบาท และฉะเชิงเทรา มูลค่า 4,600 ล้านบาท มีการเติบโตสูง โดยเฉพาะตลาดในชลบุรีถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด
เขายังระบุว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จะเป็นส่วนสำคัญในการสานต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี หนุนศักยภาพการลงทุนอสังหาฯ ในอีอีซีในระยะยาว
ส่วนกลยุทธ์ของพฤกษาฯ ในการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด จะมุ่งยกระดับการอยู่อาศัย พัฒนาโครงการกระจายให้ครอบคลุมในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก ในรูปแบบโครงการขนาดใหญ่ "พฤกษา อเวนิว" ที่มีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม
โดยมีแผนจะเปิดตัวโครงการในโซน อีอีซีทั้งสิ้น 18 โครงการ ภายในปี 2563 คิดเป็น มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท รองรับความต้องการ ที่อยู่อาศัยของแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและคนในพื้นที่ที่มีระดับกำลังซื้อตั้งแต่ 1.6-2 ล้านบาทต่อหน่วย
ล่าสุด เตรียมเปิด 2 โครงการใหม่ทั้งทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ได้แก่ บ้านพฤกษา หนองมน-ชลบุรี (3) เป็น ทาวน์โฮมหรูจำนวน 474 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 1.69 ล้านบาท และเดอะแพลนท์ หนองมน- ชลบุรี จำนวน 219 ยูนิต ราคาเริ่มต้นเพียง 2.79 ล้านบาท รวมมูลค่า 2 โครงการ 2,167 ล้านบาท บนพื้นที่ "พฤกษา อเวนิว หนองมน- ชลบุรี" โดยพัฒนาบนพื้นที่ขนาด 90 ไร่ ให้มีบ้านหลากหลายรูปแบบ รองรับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่กลุ่มครอบครัวเดี่ยวจนถึงที่ครอบครัวขยาย โดยขณะนี้ในพื้นที่อีอีซีมีโครงการที่พฤกษาเปิดขายอยู่รวม 8 โครงการ รวมมูลค่า 3,200 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้เตรียมเปิด อีก 6 โครงการ อีก 2,400 ล้านบาท ใน ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อย่างน้อยจังหวัดละ 2 โครงการแต่ละโครงการ ไม่ต่ำกว่า 200-300 หน่วย ขณะที่ในปี 2563 จะขยายไปที่ จ.ระยอง พัทยา ฉะเชิงเทรา แม้ขนาดตลาดยังเล็กอยู่แต่ก็น่าสนใจ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีซัพพลายทาวน์เฮ้าส์ ยังไม่มาก โดยเฉพาะในราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท และช่วง 2-3 ล้านบาท พบเป็นระดับราคาที่คนในพื้นที่ตอบรับและมี แนวโน้มดีที่สุด
"3-5 ปีต่อจากนี้ มูลค่าตลาดอสังหาฯ ในอีอีซี น่าจะขยับขึ้นแสนล้านบาท จะทำให้ สามารถเพิ่มฐานลูกค้าและสัดส่วนรายได้ ในกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ในต่างจังหวัดซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วน 15% มาจากโซนอีอีซี 10% คิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท" ธีรเดช ประเมิน ขณะที่แนวทางการทำตลาดต่างจังหวัดจะเน้นไปที่กลุ่มหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ที่มูลค่าตลาดรวมมากถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ภูเก็ต 1.7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น เขายังบอกด้วยว่าแม้ในปัจจุบันตลาดต่างจังหวัดจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 15% ของพอร์ตยอดขายรวมของพฤกษา น้อยกว่ากรุงเทพฯ-ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ แต่เป็นตลาดที่น่าสนใจ มีดีมานด์ที่เรียกร้องมาจากลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้บริษัทเริ่มซื้อที่ดินเก็บรวบรวมเพื่อเตรียมเปิดโครงการแล้วในหลายจังหวัด อาทิ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา และสระบุรี โดยคาดว่าภายในปี 2562 จะได้ครบทั้ง 20 จังหวัด
นอกจากกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว อีกกลยุทธ์ที่จะเร่งดำเนินการคือจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น "บ้านหายใจได้" ออกแบบระบบ ไหลเวียนอากาศภายในบ้าน, Home Auto mation, เสริมความแข็งแรงของพื้นที่หลังบ้าน ด้วยเสาเข็มขนาดยาวลึกเท่าตัวบ้าน เพื่อรองรับ การใช้งานเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของลูกค้า, ช่อง Skylight ฝ้าเพดานโปร่งแสง นำแสงสว่าง เข้ามาสู่ตัวบ้านในเวลากลางวัน ที่ช่วยตอบโจทย์ การใช้ชีวิตของลูกค้าได้ดีมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จะเป็นส่วนสำคัญในการหนุนศักยภาพ การลงทุนอสังหาฯ ในอีอีซี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
10 มิถุนายน 2562