อสังหาฯโคราช-สงขลา ชี้ โควิด-19 ฉุดยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งแตะ 70% เหลือเฉพาะข้าราชการที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อ หวังโควิดกระตุ้นคนย้ายถิ่น กลับถิ่นฐาน ดันความต้องการที่อยู่อาศัยต่างจังหวัดพุ่ง รองรับอนาคตบูมเศรษฐกิจท้องถิ่น
นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา เปิดเผยถึงสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจ.นครราชสีมาว่า หลังจากเริ่มมีพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ส่งผลกระทบทันทีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในจ.นครราชสีมา ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject) สูงถึง 70% โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยของต่างจังหวัดส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มระดับกลางและล่างราคา ไม่เกิน 5 ล้านบาท สัดส่วน 60-70% ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อส่วนใหญ่ของตลาดต่างจังหวัด ทำให้ความต้องการ(ดีมานด์) หายจากตลาดจำนวนมาก คงเหลือแต่กลุ่มที่มีเงินเดือนประจำ โดยหลักๆคือกลุ่มข้าราชการ
ทั้งนี้ตลาดอสังหาฯในจ.นครราชสีมา เริ่มชะลอตั้งแต่ปลายปี 2562 ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางแห่งต้องปิดโรงงานทำให้มีกลุ่มผู้มีรายได้ประจำได้รับผลกระทบ จึงทำให้อัตราการดูดซับที่อยู่อาศัยในตลาดชะลอตัวมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการอสังหาฯในจังหวัดยังประคองตัวได้ เนื่องจากมีการลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะรอให้จบโครงการก่อนค่อยเปิดโครงการใหม่ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือกำลังซื้อในราคาระดับกลางถึงล่างได้รับผลกระทบจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน บางคนต้องตกงานและหยุดงานทันที จึงทำให้สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงกว่า 70% จากเดิมปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีมาตรการการคุมเข้มสินเชื่อ (LTV-Loan to Value) จนถึงสงครามการค้าทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 50% "สภาพตลาดอสังหาฯในจ.นครราชสีมา ผู้เล่นในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นทุนท้องถิ่น ส่วนผู้เล่นรายใหญ่มาจากส่วนกลางน้อยเพียง 2-3 รายเพราะอัตราการดูดซับจำกัด อาทิ ศุภาลัย, พฤกษา โดยซัพพลายในจังหวัดโดยรวมมีทั้งสิ้น 6,000 ยูนิต มีอัตราดูดซับปีละ 2,700 ยูนิต"
อย่างไรก็ตามจากที่ได้หารือกับคณะกรรมการวางแผนป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พบว่า มีการควบคุมโรคระบาดกันอย่างเข้มข้น จนทำให้อัตราการแพร่เชื้อในจังหวัดไม่มีผู้ป่วยใหม่ยังเป็นตัวเลขที่ดี เป็นโอกาสในอนาคตที่จะกลับมาเปิดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ก่อน
ด้านนายศุภชัย รุจิเรืองโรจน์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์สงขลา กล่าวถึงสถานการณ์ในจังหวัดว่า พื้นที่ของจังหวัดถือเป็นศูนย์ราชการ และศูนย์กลางของภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดชายแดน ซึ่งอัตราการเพิ่มของการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการส่งตัวมารักษามากกว่าติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากในจังหวัด จึงถือว่ามีระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อมและเศรษฐกิจในจังหวัด คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยเพราะคนส่วนใหญ่ในจ.สงขลา เป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หรือมีฐานะส่วนใหญ่มาจากการทำธุรกิจและด้านการเกษตร
อีกทั้ง ผู้พัฒนาอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีที่ดินอยู่แล้ว และไม่เร่งรีบพัฒนาจึงไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนรายใหญ่ต่างถิ่นจากกทม. มีรายเดียวคือ แสนสิริ พัฒนาคอนโดมิเนียม 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะพัฒนาโครงการต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่พบความคืบหน้า อาจจะเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันจ.สงขลามีซัพพลายในตลาด 2,000 กว่าหน่วยมีอัตราการดูดซับช้า
ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดขายและโอนกรรมสิทธิ์ค่อนข้างชะลอตัว ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 60-70% เนื่องจากผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจ ไม่เอื้ออำนวย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ก็ชะลอออกไปก่อน
อย่างไรก็ตามภายหลังจากโควิด-19 คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคนเมืองหรือที่อยู่อาศัยในที่แออัด อาจจะเปลี่ยนไปต้องการจังหวัดที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป โดยคาดว่า จะมีทั้งต่างชาติเข้ามาในไทย รวมถึงคนต่างถิ่นต้องการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในจังหวัด หรือ เมืองที่มีระบบการรักษาพยาบาลพร้อม เชื่อว่าจ.สงขลา เป็นหนึ่งในศูนย์กลางราชการ ผลักดันตลาดอสังหาฯ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ : 25 พฤษภาคม 2563