แบงก์กรุงไทยประเมินปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยในกทม.และปริมณฑลหดตัว 27% คาดต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ในการกลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19 ด้านศูนย์อสังหาริมทรัพย์แย้มหลังรัฐคลายล็อกดาวน์ผู้ประกอบการขนาดเล็กะกลางความเชื่อมั่นต่อตลาดยังไม่ฟื้น
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส (Krungthai COMPASS) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ถูกบั่นทอนอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้บริโภคไทยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะหดตัวอย่างรุนแรงถึง 8.8% ส่วนผู้บริโภคต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไทยได้ ส่งผลให้ยอดจองเปิดใหม่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 20% ในไตรมาสที่ 4 ปี 62 มาอยู่ที่ 15% ในไตรมาสที่ 1 ปี 63 และมีโอกาสลดต่ำลงเหลือ 12% ในไตรมาสที่ 2 ปี 63
ทั้งนี้ประเมินว่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ มูลค่าลดลง 27% จาก 570,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเหลือ 420,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร 240,000 ล้านบาท ติดลบ 24% คอนโดมิเนียม 180,000 ล้านบาท ติดลบ 30% ส่งผลให้สต๊อกเหลือขายในภาพรวมมีโอกาสขยายตัว 5% ขึ้นไปแตะ 185,000 ยูนิต แม้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะปรับลดการเปิดโครงการใหม่ลงเกือบ 40% จากปีที่ผ่านมาก็ตาม
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลงยังพบ 3 พฤติกรรมหลักๆของผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเปลี่ยนไปอย่างถาวร (New Normal) ได้แก่เปลี่ยนช่องทางการซื้อที่อยู่อาศัยผ่านทางออนไลน์โดยในช่วงเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 40% ทำให้กลายเป็นช่องทางหลักของผู้พัฒนาฯ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยมากขึ้นโดยยอมอยู่ไกลกว่าเดิมเพื่อรองรับกิจวัตรประจำวันที่ต้องใช้เวลาในที่อยู่อาศัยนานขึ้นเช่นการทำงานที่บ้าน "Work From Home" และสุดท้ายผู้บริโภคหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากขึ้นต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลางแบบมีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย
ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันแม้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯในไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแต่ค่ากลางยังต่ำกว่าที่ระดับ 50.0 จุด โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรายกลางและรายย่อย ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันลดลงอย่างมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
วันที่ : 17 กรกฎาคม 2563