ธนารักษ์เดินหน้าให้เอกชนเช่า "บ้านทรงคุณค่า" เร่งคัดเฟสแรก 6 แห่ง นำออกประมูล ยอมรับ "บ้านพายัพ" ที่เปิดประมูลไปก่อนหน้านี้กระแสตอบรับ ไม่ดี เตรียมปรับเงื่อนไขสัญญาเช่าจาก 5 ปี เป็น 30 ปี พร้อมลดค่าเช่า-ค่าธรรมเนียม ขณะที่ต้นปี'64 ลุยเปิดประมูล "บ้านเขียว อยุธยา" พร้อมกางแผนปั๊มรายได้ 1 หมื่นล้านบาทปัดฝุ่นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด- จัดเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมเปิดประมูลบ้านทรงคุณค่า ซึ่งในรอบแรกกรมจะนำที่ราชพัสดุทรงคุณค่ามาเปิดประมูลให้เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์และอนุรักษ์ได้ 5-6 แห่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปอีกครั้งว่าจะนำที่ส่วนใดบ้างมาเปิดประมูลเฟสแรก ซึ่งมีบ้าน ที่อยู่ในการพิจารณาราว 40-50 หลัง อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กรมได้เปิดประมูลบ้านพายัพไปแล้ว และเตรียมเปิดประมูลบ้านเขียว ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งจะให้สิทธิเอกชนถือสัญญาเช่า ระยะเวลานานถึง 30 ปีเพื่อได้วางแผนการลงทุน
สำหรับบ้านพายัพเปิดประมูลเพื่อให้เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์และอนุรักษ์ และปรับปรุงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยเปิดให้เอกชนยื่นความจำนงเปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารพัสดุตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากระแสตอบรับยังไม่ค่อยดี เนื่องจากจำนวนเอกชนที่ยื่นข้อเสนอเข้ามายังมีน้อยราย ซึ่งกำลังพิจารณาสาเหตุว่าเป็นเพราะราคาค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียม เนื่องจากบ้านพายัพค่อนข้างเก่าและทรุดโทรมอาจจะต้องใช้ทุนในการปรับปรุงค่อนข้างมาก และอาจจะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงค่อนข้างนานด้วย หากเทียบกับสัญญาเช่า ที่มีระยะเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งกรมก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับสัญญาเช่าใหม่ เพื่อดึงดูดให้เอกชนเข้ามาเช่าต่อไป
ทั้งนี้ การนำที่ราชพัสดุทรงคุณค่ามาเปิดให้เอกชนเช่าตอนนั้น ไม่ได้มีผลในแง่การจัดเก็บรายได้ของกรมมาก แต่เป็นการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะหากปล่อยบ้านเหล่านี้ทิ้งไว้ก็จะเก่า และทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ กรมจึงมีนโยบาย ที่จะเข้าไปปรับปรุงให้มั่นคงในสภาพดีมากที่สุด พร้อมเปิดให้เอกชนเข้าไปเช่า เชิงพาณิชย์และอนุรักษ์เพื่อเพิ่มรายได้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
นายยุทธนากล่าวด้วยว่า สำหรับปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมได้เตรียมดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าที่สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณที่อยู่ระดับ 7,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะเพิ่มการจัดเก็บรายได้ด้วยการนำพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่งมาเปิดประมูล ได้แก่ หนองคาย มุกดาหาร และ ตาก นำที่ราชพัสดุมาให้เช่าเชิงพาณิชย์, การจัดระเบียบส่วนราชการ, รวมทั้งที่ราชพัสดุที่รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้ามา เช่า เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ : 3 ธันวาคม 2563