ต่อกรณีเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้หารือถึงข้อเสนอในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยให้น้ำหนักในเรื่องมาตรการดึงชาว ต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศในระยะยาว โดยมีเป้าหมายที่ระบุไว้ในข้อเสนอที่มีการหารือประมาณ 1 ล้านราย เกิดการใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านล้านบาท
สำหรับข้อเสนอ โฟกัสใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง ไม่จำกัดอายุ 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ อายุ 50 ปีขึ้นไป 3. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ไม่จำกัดอายุ และ 4. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ไม่จำกัดอายุ ซึ่งสิทธิประโยชน์มีหลายรายการ ได้แก่ วีซ่าระยะยาว 10 ปี, ยกเว้นภาษีมรดกสำหรับทายาท, ลดภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือย 50%, เว้นภาษีเงินได้รายได้จากต่างประเทศ ส่วนรายได้ในประเทศคิดอัตราคงที่ 17% ซึ่งในประเด็นนี้ มีการโต้แย้งกันมากในที่ประชุม เนื่องจากอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป เทียบกับอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศที่เก็บสูงสุด 35%
โดยในประเด็นข้างต้น นาย พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตรงนี้ ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมานะครับ แต่เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในบางข้อเสนอ เพิ่มความสะดวกและจูงใจให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย แต่ถ้าพูดกันตรงๆ เป็นวิธีคิดแบบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพราะ ททท. เป็นผู้เสนอ ถ้ามองในเรื่องของการ ท่องเที่ยว แล้วเรามีสิ่งอำนวยความสะดวก มีธุรกิจรองรับที่ดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ เช่น โรงแรม รถทัวร์ ไกด์ทัวร์ และสปา พร้อม แต่หากไปโปรโมต เช่น ให้ถือครองวีซ่าได้ 10 ปี มาอยู่ยาว ได้สิทธิพิเศษเพียบเลย คำถามคือ ตามกฎหมายที่มี ต่างชาติจะซื้ออะไรได้บ้าง ก็ต้องซื้อ โครงการคอนโดมิเนียม เพราะไม่สามารถซื้อที่ดินหรือบ้านได้ โปรโมต (ให้ตาย) ก็มีคอนโดฯ รองรับ
มาตรการนี้ ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการกระตุ้น จะกระตุ้นกี่ปี ซึ่งรัฐบาลต้องชัดเจนว่า ที่เราโฟกัสชาวต่างชาติใน 4 เป้า เมื่อเข้ามาแล้ว จะอยู่ตรงไหน งานอยู่ในพื้นที่ใด เพื่อให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานของตนเองภายใต้กรอบของกฎหมายเดิมที่ระบุไว้ไม่เกิน 49% หรือหากทำแล้ว ชาวต่างชาติไม่มา หรือ มาไม่เต็ม ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรต่อ
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ระหว่างปี 2561-2563 มีชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสะสม 34,651 หน่วย มูลค่า 145,577 ลบ. โดยในปี 2561 มีมูลค่าสูงสุด 57,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางราย เริ่มที่จะเห็นโอกาสหาก'ข้อเสนอ'ดังกล่าว จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ในระยะข้างหน้า โดยพบว่า บริษัท อสังหาฯ หลายแห่ง ยังคงมีเป้าในเรื่องของการสร้างรายได้จากกลุ่มลูกค้า ต่างชาติ เช่น บริษัท ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) วางเป้าปีนี้ 1,000 ล้านบาท บริษัท อนันดา ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างชาติประมาณ 20% ของรายได้รวม
"ตามสถิติแล้ว ต่างชาติเคยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูงสุดก็ประมาณปี 61 เกือบ 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก และคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะเห็นความคึกคักเหมือนปี 61 เนื่องจากปัจจุบัน ราคาคอนโดฯ ไม่จูงใจ อืดมาก ไม่เอื้อต่อการลงทุน แต่สิ่งเราต้องมองกันต่อจากมาตรการที่มีการคุยใน ศบศ. นั้น ก็อาจจะไม่เป็นผลดีต่อโครงการแนวสูงมากนัก เพราะกลุ่มต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง คงมองเรื่องของโครงการแนวราบ เช่น วิลล่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบางจังหวัด เช่นภูเก็ต และอาจจะฉุดตลาดคอนโดฯระดับบนได้ แต่ปัจจัยที่จะผลักดันให้ความคิดที่มีการหารือใน ศบศ.นั้น ก็ต้องมองเรื่อง ความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ" แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวตั้งข้อสังเกต
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
วันที่ : 9 มิถุนายน 2564