โควิดลาม แคมป์ก่อสร้าง ไม่หยุด อสังหาฯ หวั่นล็อกดาวน์ยืด 1 เดือน
.
สงครามโควิด ดันยอดติดเชื้อพุ่ง 1.5 หมื่นรายต่อวัน ขณะคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง ยังระบาดหนักทั่วประเทศ นายกสมาคมอสังหาฯ หวั่น เปิดทางรัฐบาล ใช้เงื่อนไข ออกคำสั่งล็อกดาวน์ งานก่อสร้าง ยืดเกิน 1 เดือน ซ้ำวิกฤติ ด้านหอการค้าฯ เผย ยังไร้วี่แวว เปลี่ยนแปลงคำสั่ง เกรงยกระดับมาตรการ สู่ 'อู่ฮั่นโมเดล' ล้มทั้งระบบ ขอรัฐปลดล็อก สกัดเฉพาะคลัสเตอร์-เอกชนช่วยเฝ้าระวัง
.
นับเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ตั้งแต่ ศบค. ใช้อำนาจมาตรา 9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน ออกคำสั่งเข้ม หยุดไซต์งานก่อสร้าง และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นเวลา 30 วัน เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ที่ลุกลามอย่างหนักในแคมป์ ที่พักอาศัยของแรงงานไทยและต่างด้าว พื้นที่ กทม. - ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องด้วย ณ ขณะนั้น เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่น่ากังวลมากสุด นับรวมการแพร่ระบาด มากกว่า 100 แห่ง โดยให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ถึง 27 กรกฎาคม 2564
.
กลายเป็นปัญหาจุกอก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก สำหรับวงการผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยไทย ที่ต่างอยู่ในจังหวะเร่งมือ ลุยก่อสร้าง เพื่อหวังหารายได้มาพยุงธุรกิจ และเก็บงานโครงการ ให้ทันกำหนดส่งมอบลูกค้าที่รอโอนกรรมสิทธิ์ ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ดิ้นหาทางออก และส่งเสียงสะท้อน ให้รัฐบาลเร่งคลายล็อก สนับสนุนให้ใช้ มาตรการควบคุมโรคแบบ "Bubble and Seal" ในพื้นที่แคมป์ที่มีการแพร่ระบาดเท่านั้น แต่มาตรการยังหว่านแห เนื่องจากการสั่งหยุดก่อสร้าง 1 เดือน สูญเม็ดเงินไปไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นบาท สะเทือนธุรกิจต้นน้ำ - ปลายน้ำไปทั้งระบบ จากมูลค่าอุตสาหกรรมเฉลี่ยต่อปี ที่อยู่ราว 8 - 9 แสนล้านบาท
.
28 ก.ค. ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศ ทะลุหลัก 1 หมื่นรายต่อวัน ต่อเนื่องมากกว่า 10 วัน ยอดรวมสะสมระลอกใหม่ทะยานสู่ 5 แสนราย ภายใต้มาตรการ ล็อกดาวน์ - เคอร์ฟิว ที่ถูกวิจารณ์หนาหู ว่าไม่ปรากฎผล สิ่งที่น่ากังวล คือ ผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่สีแดงเข้ม อย่าง กทม.-ปริมณฑล ลดส่วนลงมาอยู่ที่ 41% ขณะต่างจังหวัดสูงขึ้น 59% เป็นยอดนำเข้าเชื้อจาก กทม.ไปสู่จังหวัดใหม่ๆ และลุกลามหนักในจังหวัดวิกฤติ อย่าง ชลบุรี ,ขอนแก่น ,นครราชสีมา, นครปฐม, อยุธยา เป็นต้น
.
โดยคลัสเตอร์แคมป์แรงงานก่อสร้าง ยังเป็นกลุ่มก้อนเฝ้าระวังใหญ่ในการติดเชื้อ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ใกล้เคียงกับคลัสเตอร์โรงงาน นั่นอาจทำให้คำสั่ง 'ล็อกดาวน์แคมป์แรงงาน' มีความเป็นไปได้ที่จะถูกยืดมาตรการออกไปอีก
.
ล่าสุด นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริม ทรัพย์ไทย เผย 'ฐานเศรษฐกิจ' ขณะนี้มีความกังวลอย่างมาก ว่าตลาดอสังหาฯ จะตกอยู่ในความเสี่ยงอีกครั้ง เนื่องจากพบที่ผ่านมา มีหลายโครงการทั่วกรุง ประมาณ 50% ลักลอบเดินหน้าก่อสร้างโครงการ โดยอาศัยเงื่อนไขของ ศบค. ที่ผ่อนปรนให้กับงานบางประเภท ทั้งๆที่ไม่ได้เข้าข่ายเป็นกลุ่มงานเกี่ยวเนื่องกับฐานราก หรือ เสี่ยงอันตรายแต่อย่างใด ภายใต้สถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงาน ที่ยังอยู่ในอัตราสูงเช่นนี้ มีโครงการใจกลางเมือง เข้าเชื่อมเหล็ก - ตกแต่งกระจก ด้วยแรงงานหลายคนแบบไม่สนใจคำสั่งรัฐบาล ขณะบางแคมป์ ฝืนเปิด ปัจจุบันพบกลายเป็นคลัสเตอร์ระบาดใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้รัฐบาลมีคำสั่งยืดมาตรการออกไปอีก ซ้ำเดิมวิกฤติเก่า
.
ส่วนต่างจังหวัด จากมาตรการล็อกดาวน์ กทม. ทำให้แรงงานเหล่านั้น เดินทางข้ามจังหวัด ไปหานายจ้างใหม่ ลักษณะ 'ผึ้งแตกรัง' ในช่วงก่อนหน้า กลับไปแพร่เชื้อให้คนในชุมชน ขณะเดียวกัน ก็อาจนำเชื้อในจังหวัดใหม่ๆ กลับมาแพร่ต่อในแคมป์ก่อสร้างเดิมกทม. เมื่อรัฐบาลสั่งคลายล็อกในระยะต่อไป เป็นความเสี่ยงใหญ่ที่เกินควบคุม อย่าง กรณีในจังหวัดขอนแก่น และ ชลบุรี เพราะ แรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง ไม่มีแหล่งงานตายตัว ขณะแคมป์ที่อยู่ฯ กระจายเป็นหย่อมหญ้า มากกว่าไซต์ก่อสร้าง แฝงตัวในชุมชน เดินทางด้วยรถสาธารณะ ทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างวงกว้าง
.
ด้านนายอิสระ บุญยัง ฐานะประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอสังหาฯมีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ พบ 1 เดือนที่ปิดไป เจาะเฉพาะส่วนต้นทุน งอกเพิ่มราว 1.2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งที่ผ่านมา มาตรการชดเชย-เยียวยานั้น ผู้ประกอบการไม่ได้รับ เนื่องจาก ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น ธุรกิจก่อสร้าง แต่เป็นภาคบริการ อสังหาฯรายใหญ่แทบทุกราย รัฐบาลเองก็รับรู้ปัญหา แม้แต่ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร - น้ำดื่มรายวันให้กลุ่มแรงงาน เอกชนก็เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ฉะนั้น หากจะมีการยกระดับการล็อกดาวน์อีก ไปถึงขั้น 'อู่ฮั่นโมเดล' อย่างที่บางฝ่ายเรียกร้องนั้น มองว่า ในบริบทของไทยไม่สามารถทำได้แน่นอน เนื่องจากธุรกิจไทย เจ้าของ คือ เอกชน ต่างจากจีน ที่ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล และถือหุ้น สามารถสั่งปิด-เยียวยาได้เบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ อสังหาฯไทย ไม่ได้เรียกร้อง เพราะเข้าใจสถานการณ์ ว่าขณะนี้ไม่ต่างจากภาวะสงคราม
.
ส่วนเรื่องการเปิดก่อสร้างนั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการประสานจากรัฐบาล ถึงการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ปลดล็อกอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมกิจกรรมของแต่ละจังหวัดนั้น จะอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวใหญ่ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มล่าสุด ตามเงื่อนไขเรื่องเวลาเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ในคำสั่งมาตรา 9 ได้โอนย้ายอำนาจให้ผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด เป็นผู้พิจารณาเปิด-ปิด ตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนตัว สนับสนุน 'โมเดล' รับมือคลัสเตอร์ ที่จังหวัดสมุทรสาครนำมาใช้ ประกาศเป็นคำสั่งภายในจังหวัด ระบุ หากมีการติดเชื้อภายในโรงงาน หรือ พื้นที่ก่อสร้างที่เอกชนรับผิดชอบ ต้องมีการจัดตั้ง รพ.สนามประจำจุด เพื่อรองรับผู้ป่วยโดยตรง อย่างน้อย 10% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด เป็นต้นแบบที่บีบบังคับให้นายจ้างมีความรับผิดชอบมากขึ้น
.
สำหรับแคมป์ก่อสร้าง ที่มีการติดเชื้อใหม่ๆ พบขณะนี้ ยังกระจุกตัวอยู่ในไซต์งานขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างโครงการคอนโดฯ, งานสาธาร ณูปโภคของรัฐ ในพื้นที่เมืองเป็นหลัก เนื่องจากมีการอาศัยกันอย่างหนาแน่น และมีการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่วนแคมป์ขนาดเล็ก ที่ปักหลักในไซต์ก่อสร้าง ตามโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ชานเมือง ไม่พบปัญหา ฉะนั้น ยังยืนยัน หากจะยืดมาตรการสั่งปิด ขอให้เลือกเป็นรายคลัสเตอร์เป็นหลัก
.
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เคยระบุว่า การสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่งผลกระทบเต็มๆ กับหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รองลงมาจากกลุ่มรับเหมา เนื่องจากหากไม่มีคนงานในการก่อสร้าง การส่งมอบโครงการจะถูกเลื่อนออกไป ซึ่งจะทำให้การรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการเลื่อนออกไปด้วย และสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ กดดันกำลังซื้อชะลอตัว หมุนเป็นระลอกคลื่นทั้งระบบไป-มา
.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ : 29 กรกฎาคม 2564