“เฟรเซอร์สฯ” โชว์เมกะโปรเจกต์ 5 โครงการบูมย่านถนนพระราม 4 ล่าสุดเผยมาสเตอร์แพลน โครงการวัน แบงค็อก มูลค่าลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 66
นายปณต สิริวัฒนภัคดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 5 แห่งบนถนนพระราม 4 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดใช้บริการโครงการเอฟ วาย ไอ เซ็นเตอร์ (FYI CENTER) บริเวณแยกพระราม 4 – รัชดาภิเษก (ฝั่งซอยไผ่สิงโต) ไปแล้ว และในเดือน ก.ย. 2562 ยังเตรียมเปิดให้บริการโครงการสามย่านมิตรทาวน์ บริเวณแยกสามย่าน-พระราม 4
ประกอบกับในอนาคตก็จะมีการเปิดให้บริการเดอะปาร์ค บริเวณแยกพระราม 4-รัชดาภิเษก (ตรงข้ามกับโครงการ FYI CENTER), ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และในปี 2566 โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) บริเวณแยกสวนลุมพินี-สาทร ปัจจุบันควาบคืบหน้าของการก่อสร้าง และงานเสาเข็มของโครงการได้สำเร็จลุล่วงเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2562 บริษัทได้เผยถึงแผนงานหลักของโครงการ วัน แบงค็อก ซึ่งโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก ด้วยมาตรฐานใหม่ ทั้งด้านการออกแบบ คุณภาพ ความยั่นยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตในสมาร์ต ซิตี้ เชื่อมั่นว่า วัน แบงค็อก จะชูให้ประเทศไทยโดดเด่นในเวทีโลก และเติบโตในฐานะศูนย์กลางของประเทศอาเซียน
พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเป็นโครงการแรกในไทยที่ได้รับการรองรับมาตรฐานอาคารระดับสากลอย่าง LEED –ND Platinum ทั้งนี้ผังรวมโครงการ ประกอบไปด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอระดับพรีเมียม 5 อาคาร ที่พักอาศัย (คอนโดมิเนียม) ระดับลักชัวรี่ 3 อาคาร พื้นที่ร้านค้าปลีก 4 จุดเชื่อมกัน โรงแรมหรู 5 อาคาร และพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางศิลปะ และวัฒนธรรม
สำหรับโครงการวัน แบงค็อก ถูกพัฒนาขึ้นครอบคลุมกว่า 104 ไร่ มีมูลค่าลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท โดยคิดรวมกับผลกระทบต้นทุนก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลง และค่าแรงงานในอนาคตไว้แล้ว เบื้องต้นจะเปิดให้บริการโครงการเฟสแรกได้ในปี 2566 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ได้ในปี 2569
ขณะที่นางสาวซู หลิน ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก เปิดเผยว่า แผนงานหลักของโครงการ วัน แบงค็อก ประกอบด้วย 4 อาณาบริเวณที่เชื่อมต่อถึงกัน โดยมีใจกลางของโครงการอยู่ที่ Civic Plaza พื้นที่สันทนาการขนาด 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ตัวโครงการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ทางเข้าออกรอบโครงการ 6 จุด จากฝั่งถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 และทางเชื่อมโดยตรงกับทางด่วนซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติ เป็นต้น
ทั้งนี้ วัน แบงค็อก มุ่งเป็นที่ตั้งบริษัทในกรุงเทพฯ และเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจแห่งใหม่ ด้วยพื้นที่เช่าสุทธิของอาคารสำนักงานทั้ง 5 อาคาร รวมกว่า 500,000 ตารางเมตร มีกำหนดก่อสร้างเป็นเฟสให้แล้วเสร็จในระหว่างปี 2566-2569 สามารถรองรับบุคลากรขององค์กร ทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ ได้กว่า 500 บริษัท หรือราว 50,000 คน นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้แบรนด์ต่าง ๆ ด้วยพื้นที่รีเทล 4 โซน ที่มีความแตกต่างกัน ด้วยร้านค้า และร้านอาหารกว่า 450 ร้าน บนพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร
ส่วนโรงแรม 5 แห่ง ภายในวัน แบงค็อก ทั้งหมดจะเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับกรุงเทพฯ เป็นทางเลือกที่โดดเด่นสำหรับนักท่องเที่ยว ครอบคลุมตั้งแต่ระดับบูทีคโฮเทล โรงแรมเพื่อธุรกิจ ไปจนถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ รวมกว่า 1,100 ห้อง โดยโรงแรมลักชัวรี่แห่งแรกคือ The Ritz-Carlton, Bangkok ที่จะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2566
ด้านที่พักอาศัยระดับลักชัวรี่ทั้งหมด 3 อาคาร ซึ่งที่พักอาศัยโครงการแรกจะตั้งอยู่เหนือโรงแรม The Ritz-Carlton, Bangkok ประกอบด้วยห้องที่ตกแต่งอย่างหรูหราขนาด 2-4 ห้องนอน จำนวน 110 ห้อง พื้นที่เริ่มต้น 130 ตารางเมตร พร้อมเปิดตัวช่วงต้นปี 2563
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น
1 สิงหาคม 2562