25 ทุนยักษ์ชนสนั่นชิงที่ดินรถไฟย่านธนบุรี-ศิริราช "BEM" เจ้าพ่อทางด่วน-ระบบราง ร่วมวง เจ้าสัวเจริญ-ซีพี-เซ็นทรัลเดอะมอลล์ ดีเดย์พ.ค.ขายซองส.ค. ประมูล ปั้นฮับสุขภาพห้าง-โรงแรม บูมฝั่งธนฯ รับรถไฟฟ้า 3 สาย
บ้านพักพนักงานรถไฟ สถานีธนบุรี 305 ครัวเรือน เนื้อที่ 21 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังถูกแปลงโฉมเป็นมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่ ให้เอกชนเช่าระยะยาว 30 ปีโดยประเมินว่า หากก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 2569 มูลค่าแพงระยับเกินกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท เพราะนอกจากใกล้โรงพยาบาลศิริราช แม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว บริเวณดังกล่าว ยังเป็นทำเลทองศักยภาพสถานีจุดตัดรถไฟฟ้า 2 สาย ระหว่างสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) และสายสีแดง (ตลิ่งชัน -ศิริราชศาลายา) ขณะเดียวกันยังสะดวกสบาย ใกล้สถานีอิสรภาพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงไม่แปลกว่าการ เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี (ครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างมาก มากถึง 25 ราย ภายหลังจากรฟท. ว่าจ้างบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาศึกษาโครงการ
แหล่งข่าวจากบริษัทโมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ฯ ระบุว่า เนื่องจากทำเลใกล้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐอย่างศิริราช และโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ "ธนบุรี" มองว่า เหมาะพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ศูนย์การค้าชั้นนำ โรงแรม ที่พักอาศัยแนวสูง รองรับกลุ่มรักษ์สุขภาพที่ต้องการฟื้นฟูใกล้สถานพยาบาล ดังกล่าว ที่ เรียกเสียงฮือฮา คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษ (ทางด่วน) และระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ นอกเหนือไปจาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน), เดอะมอลล์กรุ๊ป, ทีซีซีกรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี, บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์,โรงพยาบาลปิยะเวช, โรงพยาบาลธนบุรี บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ของนายแพทย์ บุญวนาสิน โรงพยาบาลศิริราช, บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี ว่า ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากภาคเอกชน ทั้งในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจทางการแพทย์ ธุรกิจด้านสุขภาพ และกลุ่มผู้สูงวัย เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน รฟท.ได้ดำเนินการให้บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความคิดเห็น และปรับปรุงรายงานผลการศึกษา คาดว่าจะเสนอให้รฟท. พิจารณาในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 จากนั้น รฟท.จะประชุมคณะกรรมการจัดทำร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคาต่อไป
ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดจำหน่ายเอกสารการประมูลในเดือน สิงหาคม 2564 และจะให้เวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอ 2 เดือน ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเช่าพื้นที่ในเดือน ตุลาคม 2564 ประกาศผลผู้ชนะประมูลเดือน ธันวาคม 2564 และลงนามสัญญาเดือน มกราคม 2565 ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2569
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี มีเนื้อที่โครงการ 21 ไร่ 3 งาน มูลค่าโครงการประมาณ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 โซนดังนี้
1.พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น 2.ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ หรือเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ 1 เปิดบริการในระดับลักชัวรี 3.เซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ 2 และ 4.บ้านพักสำหรับพนักงานรฟท.
นายเอก กล่าวต่อว่า โครงการฯ มีพื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 14 ไร่ มีมูลค่าที่ดิน 1,770 ล้านบาท ให้เอกชนเช่า 30 ปี มีผลตอบแทนให้ รฟท. มูลค่า 1,125 ล้านบาท หากลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูล เอกชนต้องจ่ายทันที 337 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของผลตอบแทน จากนั้นจะทยอยจ่ายเป็นรายปีจนครบ 30 ปี โดยจะจ่ายปีละ 47.48 ล้านบาท จากนั้นเพิ่มขึ้น 10% ทุก 3 ปี ปีสุดท้ายจ่าย 196.69 ล้านบาท เมื่อรวม 30 ปี รฟท. จะได้ผลตอบแทนรวม 3,584 ล้านบาท
ทั้งนี้พื้นที่ย่านสถานีธนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อที่สำคัญของกรุงเทพมหานครอนาคตสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า 2 สถานี 3 เส้นทาง โดยอยู่ห่างโครงการประมาณ 800 เมตร ได้แก่ สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมทางด้าน สุขภาพ เป็นศูนย์พักฟื้น พื้นฟูสุขภาพ และยังมีโรงแรมระดับกลาง เพื่อรองรับผู้ป่วยและญาติที่เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี
อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ของโครงการ 21 ไร่ 3 งาน แบ่งออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น ขนาดพื้นที่ 40,360 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในส่วนของโรงแรมบัดเจด ระดับ 3 ดาว จำนวน 720 ห้อง สำหรับญาติผู้ป่วยพักอาศัยและศูนย์การค้าอำนวยความสะดวกภายในโครงการสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายได้ 8,000-10,000 ต่อวัน โดยมีจำนวนที่จอดรถ 501 คัน
ส่วนที่ 2 ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพหรือเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ 1 ขนาดพื้นที่ 21,096 ตารางเมตร (ตร.ม.) เปิดบริการในระดับลักชัวรี สำหรับผู้พักฟื้น ต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดที่เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลใกล้เคียงที่ตั้งของโครงการ อาทิ เช่นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธนบุรี เป็นต้น และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลที่กล่าวมาข้างต้น จำนวน 280 ห้อง รองรับจำนวนที่จอดรถ 232 คัน
ส่วนที่ 3 เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ 2 ขนาดพื้นที่ 22,108 ตารางเมตร (ตร.ม.) เปิดบริการสำหรับกลุ่มแพทย์และผู้พักฟื้นต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดใน ย่านธนบุรี จำนวน 300 ห้อง รองรับจำนวนที่จอดรถ 235 คัน เบื้องต้นจากการศึกษาโครงการเบื้องต้น พื้นที่เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ทั้ง 2 ส่วนในรูปแบบ 1 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตร ส่วนรูปแบบ 2 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 45-50 ตารางเมตร และส่วนที่ 4 บ้านพักสำหรับพนักงานรฟท. ขนาดพื้นที่ 22,108 ตารางเมตร จำนวน 315 ห้อง รูปแบบของที่พักอาศัย 35-50 ตารางเมตรทดแทน บ้านพักแนวราบเดิม พร้อมรองรับที่จอดรถสำหรับพนักงาน 265 คัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ : 25 มีนาคม 2564